คอสมอส ตอนที่ 1: การเดินทางสุดขอบจักรวาล​ ที่สังเกตเห็นได้

 “จักรวาลคือทุกสิ่งทุกอย่าง เคยเป็นเช่นนั้น แล้วจะเป็นเช่นนั้นไปตลอดกาล” โดยคาร์ล เซแกน
ภาพนี้ได้รับมาจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิลของ NASA / ESA ซึ่งแสดงให้เห็นถึงกระจุกกาแล็กซี MACS J0416 ซึ่งเป็นหนึ่งในหกกระจุกกาแล็กซีที่ได้รับการศึกษาโดยโปรแกรม Hubble Frontier Fields โดยอาศัยประโยชน์จากปรากฏการณ์เลนส์ความโน้มถ่วง ซึ่งช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถจับภาพแสงของกาแล็กซีที่อยู่ลึกที่สุดได้ รวมถึงในเรื่องของการกระจายตัวของสสารมืดภายในกระจุกกาแล็กซี (ที่มองเห็นเป็นสีน้ำเงิน) Credits: NASA, ESA and M. Montes (University of New South Wales)

เราเพิ่งตระหนักรู้ได้ถึงการมีอยู่ของจักรวาล และเราเพิ่งจะเริ่มออกเดินทางไปจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ แห่งนี้ ที่เราเรียกว่าโลก หนทางข้างหน้ายังดูอีกยาวไกล การผจญภัยของเราในครั้งนี้ อาจนำไปสู่ความเวิ้งว้างอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของจักรวาล

ในระหว่างภารกิจของเรา ยังมีอะไรอีกมากที่ต้องให้เรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็น โลก ดวงอาทิตย์ และ กาแล็กซี่

เราดูสนุกไปกับการท่องอวกาศ ที่ๆ ซึ่งรายล้อมรอบไปด้วยพลังงาน และคลื่นแรงโน้มถ่วง ตลอดจนถึงการเผชิญหน้ากับสิ่งมีชีวิตที่ทนทายาดที่สุด

ขณะที่เรากำลังค้นหาการมีอยู่ของดาวฤกษ์มวลมหาศาล ในอีกทางหนึ่งความเป็นจริงของจักรวาลขนาดเล็กจิ๋วยิ่งกว่าอะตอมก็น่าสนใจไม่แพ้กัน

จักรวาลได้ให้กำเนิดเรื่องราวทั้งหมดของเรา และปูเส้นทางเดินนี้ให้กับเหล่าผู้กล้าได้ไปสู่หนทางแห่งดวงดาว

เราจำเป็นต้องใช้จินตนาการหากต้องการออกผจญภัย อย่างไรก็ตามจินตนาการเพียงอย่างเดียวนั้นดูเหมือนจะยังไม่พอ เพราะความเป็นจริงของธรรมชาตินั้นมหัศจรรย์ยิ่งกว่านั้นมาก และล้ำลึกเกินกว่าสิ่งไหนๆ ที่จะสามารถพรรณนาถึงได้

และเนื่องจากว่าช่วงเวลาแห่งการเดินทางนั้นช่างแสนยาวไกล ลำพังเพียงแค่คนๆ หนึ่ง ก็มิอาจทำให้การผจญภัยนี้สมบูรณ์ได้ ดังนั้นความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อ เหล่านักเดินทางทุกคนได้ร่วมมือร่วมใจกัน แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน ผ่านหลายชั่วอายุคน คนแล้วคนเล่า รู้จักรักและให้อภัย ปฏิบัติตนอยู่ในกฎที่เรียบง่าย ทดสอบแนวคิดที่ได้ และสังเกตการณ์ พร้อมกับต่อยอดแนวคิดนั้น ไปสู่แนวคิดใหม่ๆ

ที่สำคัญคือนักผจญภัยที่ดีทุกคน ต้องรู้จักยอมรับถึงความผิดพลาด และรู้จักที่จะเรียนรู้มัน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็คือแนวทางไปสู่ การหาคำตอบของทุกสรรพสิ่งในจักรวาล เราเกิดมาทำไม เราอยู่ตัวคนเดียวหรือเปล่า และทำไมจึงต้องมีจักรวาลเกิดขึ้น

โลกคือบ้านเกิดของเรา ห่างออกไปประมาณ 384,400 กิโลเมตรจากนี้ คุณจะพบกับดวงจันทร์ ดาวบริวารของโลก ซึ่งมีขนาดเล็กกว่าโลกราว 1 ใน 4 สถานที่แห่งนี้แห้งแล้งมาก แทบไม่หลงเหลืออากาศอยู่ให้เห็น รวมถึงกิจกรรมทางธรณีต่างๆ ทำให้บนพื้นผิวของมันยังคงทิ้งร่องรอยของความรุนแรงในอดีตเอาไว้ให้เห็นอย่างเด่นชัด แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยไปนานแล้วหลายพันล้านปี ในตลอดช่วงประวัติศาสตร์ มนุษย์ให้ความสนใจดวงจันทร์อยู่เสมอมา เราได้ส่งยานอวกาศไปหามันหลายต่อหลายครั้ง และก้าวที่ยิ่งใหญ่ก็เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม ปี 1969 เมื่อสิ่งมีชีวิตตัวเล็กอย่างมนุษย์สามารถขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตามเมื่อมองต่อไปข้างหน้าเราจะพบกับความเวิ้งว้างในอวกาศ จนอยากที่มองออกเรียกว่าจุดของแสงดาวเล็กๆ ดวงไหนที่อยู่ไกลที่สุด แต่หากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับเรามากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นดวงอาทิตย์ ดวงอาทิตย์ของเรานั้นทรงอิทธิพลต่อชีวิตบนโลกของเรามาก มันมอบพลังงานและความอบอุ่นให้แก่เรา ขณะเดียวกันในอีกทางหนึ่งมันก็สามารถทำลายเราได้เช่นกัน

ดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่โตกว่าโลกมหาศาล ความยิ่งใหญ่ของมันเทียบเท่ากับโลกเป็นจำนวนกว่า 1.3 ล้านดวง (เพื่อให้สามารถบรรจุลงไปภายในดวงอาทิตย์ได้เต็มใบ)

ห่างไกลจากดวงอาทิตย์ราว 50 ล้านกิโลเมตร เราจะพบกับดาวเคราะห์ที่มีฉายาว่า “เตาไฟแช่แข็ง” เนื่องจากเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด จึงได้รับพลังงานความร้อนรวมถึงพลังงานความโน้มถ่วงไปแบบเต็มๆ ในเวลากลางวันอุณหภูมิพื้นผิวจะพุ่งสูงไปถึง 427 °C ซึ่งร้อนพอจะสามารถหลอมตะกั่วได้สบายๆ ในขณะที่เวลากลางคืนอุณหภูมิจะหนาวเย็น −173 °C ด้วยความที่มันมีสภาพสุดขั้วของอุณหภูมิเช่นนี้ จึงกลายเป็นที่มาของฉายา “เตาไฟแช่แข็ง” นั่นเอง

ห่างจากดวงอาทิตย์ออกไปราว 100 ล้านกิโลเมตร เราจะพบกับดาวเคราะห์ที่มีชื่อเรียกตามเทพปกรณัม วีนัส (Venus) เทพีแห่งความงดงาม หรือดาวศุกร์ ดาวเคราะห์ดวงนี้เมื่อมองจากฟ้าบนโลกในเวลากลางคืน เราจะพบว่ามันสว่างสดใสมาก เป็นรองเพียงแค่ดวงจันทร์ ซึ่งความสวยงามของแสงดาวดวง มาจากแสงที่สะท้อนออกมาจากชั้นบรรยากาศของดาว ที่ถูกปกคลุมไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 97 เปอร์เซ็น ปรากฏการณ์เรือนกระจกหากมีอยู่ในปริมาณที่น้อยนิดถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะมันจะช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่ชีวิตบนดาวดวงนั้นได้ (หากว่ามี) แต่ถ้ามีมากเกินไปดาวดวงนั้นก็อาจกลายสภาพเป็นเหมือนดั่งขุมนรกเช่นเดียวกับดาวศุกร์ ที่มีอุณหภูมิพื้นผิวสูงถึง 464 °C (ร้อนยิ่งกว่าดาวพุธเสียอีก)

ที่ระยะ 230 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์ ที่ปลายขอบของเขตอาศัยได้ เราจะพบกับดาวเคราะห์อันน่าหลงใหลอีกดวงหนึ่ง ที่คาดว่าในอนาคตมันจะกลายเป็นบ้านหลังที่สองให้กับเรา และมันมีชื่อว่าดาวอังคาร แม้ว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะมีสภาพอากาศที่เบาบางมาก แต่เชื่อว่าด้วยเทคโนโลยีของมนุษย์เราที่ก้าวไกล จะช่วยให้ดาวเคราะห์ดวงนี้น่าอยู่ขึ้นได้

ก่อนที่เราจะออกไปจากเขตดินแดนของระบบสุริยะภายใน การผจญภัยของเราจะพบเจอกับแถบดาวเคราะห์น้อย ซึ่งเป็นที่อยู่ของกลุ่มเศษซากหินน้อยใหญ่ต่างๆ ที่หลงเหลือมาจากการสร้างดาวเคราะห์ในยุคเริ่มต้นของระบบสุริยะ พื้นที่บริเวณแห่งนี้อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 300 ล้านกิโลเมตร และสามารถขยายไปได้ไกลถึง 500 ล้านกิโลเมตร เชื่อมอยู่ในระหว่างรอยต่อของวงโคจรดาวอังคารและดาวพฤหัสบดี วัตถุที่ดูเด่นที่สุดก็น่าจะเป็นดาวเคราะห์แคระที่มีชื่อว่า Ceres ซีรีส ด้วยขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว่า 940 กิโลเมตร จึงทำให้มันมีรูปทรงสัณฐานเป็นทรงกลม จนดูคล้ายกับดาวเคราะห์ดวงหนึ่งไปเลยทีเดียว

ห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 780 ล้านกิโลเมตรเราจะพบกับราชาแห่งดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มันมีชื่อว่าดาวพฤหัสบดี เราจำเป็นต้องใช้โลกรวมกันถึง 1,300 โลก จึงจะสามารถเติมเต็มปริมาตรให้กับดาวพฤหัสบดีได้ ว่ากันว่าแค่จุดแดงใหญ่ซึ่งเป็นพายุที่พัดมานานกว่า 350 ปีก็มีขนาดใหญ่กว่าโลกทั้งใบแล้ว สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับดาวดวงนี้ก็คือ ดาวบริวารขนาดใหญ่ทั้ง 4 ของมันได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด และ คาลลิสโต โดยเฉพาะ แกนีมีด เพียงดวงเดียวก็มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธแล้ว หากเรารวมเอาจำนวนของดาวบริวารขนาดเล็กอื่นๆ ทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน ก็จะพบว่าดาวพฤหัสบดีนั้นมีดวงจันทร์อยู่รวมถึง 79 ดวง จึงดูราวกับว่าสถานที่แห่งนี้ เสมือนเป็นระบบสุริยะขนาดย่อมๆ แห่งหนึ่งไปเลย

เลยออกไปจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1,400 ล้านกิโลเมตร คือที่อยู่ของดาวเคราะห์ที่มีวงแหวนสวยงามที่สุด นั่นก็คือดาวเสาร์ วงแหวนของมันนี่เองจึงทำให้มันดูเด่นสง่ากว่าดาวเคราะห์ดวงไหนๆ องค์ประกอบส่วนใหญ่ของวงแหวนคือสะเก็ดน้ำแข็งขนาดเล็ก จึงทำให้สะท้อนแสงได้ดีจนสามารถมองเห็นได้จากโลก สถานที่แห่งนี้ก็คล้ายๆ กับเป็นอีกหนึ่งระบบสุริยะเช่นเดียวกับดาวพฤหัสบดี เนื่องจากดาวเสาร์นั้นมีดาวบริวารโคจรอยู่รวมกันถึง 82 ดวง แต่ดวงจันทร์ที่ดูจะโดดเด่นที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ดวงจันทร์ไททัน และเอนเซลาดัส ซึ่งดวงจันทร์ทั้งสองดวงนี้ คือเป้าหมายสำคัญของโครงการสำรวจอวกาศ เพื่อค้นหาเบาะแสของสิ่งมีชีวิต

เมื่อเราเดินทางมาไกลจากดวงอาทิตย์ราว 4,500 ล้านกิโลเมตร ในอาณาบริเวณของดาวยูเรนัส และดาวเนปจูน ก็จะถึงขีดความสามารถในการมองเห็นด้วยตาเปล่าของเราบนพื้นโลก ในดินแดนพิศวงแห่งนี้ เราจำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์ในการช่วยส่องดู สำหรับนักเดินทางที่อยู่ในระยะห่างหลายพันล้านกิโลเมตรเช่นนี้เมื่อมองกลับมาที่โลกเราก็แทบมองไม่เห็นโลกของเราแล้ว หากไม่สังเกตดีๆเราก็แทบจะไม่รู้เลยว่าโลกของเรานั้นอยู่ตรงไหน เพราะดูเหมือนจะกลมกลืนไปกับพื้นหลังของดวงดาวไปหมด

เลยออกไปจากวงโคจรของดาวเนปจูน ก็คือในแถบดินแดนของโลกน้ำแข็งที่มีอยู่เป็นจำนวนนับหมื่นๆ ดวง ในด่านสุดท้ายของระบบสุริยะแห่งนี้ เราจะพบกับหัวใจดวงโตจากดาวพลูโตที่มอบไว้ให้แก่นักเดินทาง

มียานอวกาศที่มนุษย์สร้างขึ้นเพียงไม่กี่ลำเท่านั้น ที่ได้เดินทางไปไกลเกินกว่าวงโคจรของดาวพลูโต ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือยานวอยเอจเจอร์ 1 มันออกเดินทางจากโลกเราไปตั้งแต่ปี 1977 ก่อนที่จะเดินทางไปเฉียดดาวพฤหัสบดีในปี 1979 และดาวเสาร์ในปี 1980 ทุกวันนี้มันยังคงเดินหน้าต่อไปอย่างห้าวหาญสู่ห้วงอวกาศแบบไม่มีวันย้อนกลับ ระยะทางที่ไกลจากบ้านถึง 22,800 ล้านกิโลเมตรจึงทำให้มันกลายเป็นยานอวกาศลำแรกที่สามารถหลุดพ้นออกไปจากระบบสุริยะได้

มนุษย์นั้นเกิดขึ้นมาอย่างเดียวดายบนโลกแห่งนี้ เราแค่หวังว่าเราจะได้พบเจอกับเพื่อนต่างดาวเข้าสักวันหนึ่ง ด้วยความหวังอันน้อยนิดนี้ เราได้ส่งมันไปกับยานวอยเอจเจอร์ 1 และ 2 ด้วย มันคือแผ่นจานทองคำ (Golden record) ที่ได้บันทึกเอาเรื่องราวทางประวัติศาสตร์เราเอาไว้ในนั้น และคาดหวังว่าข้อความภาพและเสียงนี้ จะคงอยู่นานไปอีกหลายพันล้านปี ซึ่งช่วงเวลาดังกล่าวอาจนานพอที่จะส่งไปถึงนักเดินทางต่างดาวได้ เพื่อบอกว่าเราได้ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของจักรวาลแล้ว และเราอยู่ที่นี่บนบ้านของเรา ที่เรียกว่า “โลก”

เมื่อมองจากมุมนี้ เราจะเห็นว่า ระบบสุริยะของเราก็เป็นเพียงแค่จุดของแสงดาวเล็กๆ จุดหนึ่ง บนฉากหลังที่มีดวงดาวอยู่นับแสนล้านดวงภายในดาราจักรทางช้างเผือก ระบบสุริยะของเรานั้นถือกำเนิดขึ้นมาจากกลุ่มของฝุ่น และเมฆก๊าซเนบิวลา เมื่อประมาณ 5,000 ล้านปีที่แล้ว แรงโน้มถ่วงมหาศาลของมันได้โอบอุ้มพาเอาเทหวัตถุต่างๆ ให้เคลื่อนที่ติดตามมันไปด้วย หนึ่งในนั้นคือกลุ่มก้อนดาวหางน้ำแข็งที่มีอยู่เป็นจำนวนนับล้านๆ ดวง ที่ชายแดนขอบนอกของระบบสุริยะ อันที่จริงแล้วมันคือสิ่งที่หลงเหลือมาจากการสร้างดวงดาวในยุคเริ่มต้น แม้ว่าเราจะยังไม่เคยเห็นมันจริงๆ มาก่อน แต่เราก็ตั้งชื่อให้กับมันไปแล้วว่า กลุ่มเมฆออร์ต (Oort cloud) ซึ่งหากมองจากแบบจำลองทางโครงสร้างภายนอกก็จะพบว่า มันดูคล้ายกับเป็นเปลือกทรงกลมขนาดใหญ่ที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์เอาไว้เอาไว้อยู่ภายใน และมีขนาดที่ใหญ่มาก อาจอยู่เลยไปไกลจากดวงอาทิตย์ถึง 3 ปีแสง หากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่า เมฆออร์ตนี้ ได้ตีวงรัศมีไปไกลจนเกือบถึงระบบดาว อัลฟา เซนทอรี (Alpha Centauri) เลยทีเดียว (Alpha Centauri เป็นระบบดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์ของเรามากที่สุด อยู่ห่างจากโลกประมาณ 4.37 ปีแสง)

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาเรารู้เรื่องราวของดาวเคราะห์ต่างๆ ภายในระบบสุริยะเป็นอย่างดี แต่ทุกวันนี้เรารู้แล้วว่ายังมีดาวเคราะห์เช่นโลกอยู่อีกจำนวนนับไม่ถ้วน ที่อยู่ด้านนอกของระบบสุริยะ ข้อมูลนี้จึงทำให้ความคิดของเราเปิดกว้าง ว่าอาจจะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกมากมายที่กระจายไปอยู่ตามที่ต่างๆ ในแต่ละโลกแห่งนั้น บางโลกอาจอยู่อย่างโดดเดี่ยวเดียวดายท่ามกลางพื้นที่ว่างในอวกาศ ซึ่งเป็นโลกที่ไม่ได้โคจรอยู่โดยรอบดาวฤกษ์แม่ของมัน เราเรียกโลกเหล่านี้ว่า ดาวเคราะห์โรก (Rogue planet) หรือ ‘ดาวเร่ร่อน’ ซึ่งในทางช้างเผือกของเราอาจมีดาวประเภทนี้อยู่หลายพันล้านดวง แต่ละดวงอาจมีชะตากรรมของที่มาที่แตกต่างกันไป แต่ที่เหมือนกันทุกดวงคือ ดาวเคราะห์เหล่านี้ไร้บ้าน และพเนจรไปทั่วกาแล็กซี

ดาวเคราะห์โรกบางดวงหากดูภายนอกอาจจะเห็นว่ามันถูกปกคลุมเต็มไปด้วยน้ำแข็ง แต่ก็มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ภายในใจกลางของดาวเคราะห์นั้นจะหลงเหลือความอบอุ่นอยู่ ซึ่งเป็นพลังงานความร้อนที่ได้รับมาตั้งแต่ในช่วงก่อตัว หากเป็นเช่นนั้น ก็มีโอกาสที่น้ำจะสามารถคงรูปเป็นของเหลว แล้วรวมกันเป็นมหาสมุทรขนาดใหญ่อยู่ได้ภายใต้เปลือกน้ำแข็งนั่น คำถามถัดมาก็คือ จะเป็นไปได้ไหมที่ชีวิตจะสามารถดำรงอยู่ภายใต้สภาพเงื่อนไขเช่นนี้ได้

Revealing the Milky Way’s Center Image Credit: NASA, JPL-Caltech, Susan Stolovy (SSC/Caltech) et al.

นี่คือภาพของทางช้างเผือกภายใต้แสงอินฟราเรด ทุกๆ จุดของแสงบนภาพไม่ใช่แสงธรรมดา แต่มันคือจุดของแสงจากดาวฤกษ์หนึ่งดวง คุณอาจจะสงสัยว่าแล้วมีดาวฤกษ์อยู่เป็นจำนวนเท่าไหร่ มีโลกอีกกี่โลกข้างนอกนั่น และมีที่ไหนที่ชีวิตจะสามารถดำรงอยู่ได้ นี่คือภาพแบบจำลองของทางช้างเผือกเมื่อมองจากมุมบน เราอยู่ที่ไหนในภาพนี้กันแน่ จากข้อมูลวิเคราะห์ทางดาราศาสตร์บอกกับเราว่า แท้จริงแล้วเราอยู่แถวๆ เกือบด้านนอกของแขนกังหันทางช้างเผือก ซึ่งเป็นจุดที่อยู่ห่างไกลจากใจกลางกาแล็กซีประมาณ 26,670 ปีแสง ทางช้างเผือกของเรามีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100,000 ปีแสง หรือในอีกทางหนึ่ง หากเราท่องไปกับยานอวกาศที่มีความเร็วเท่ากับแสง เราก็จะต้องใช้เวลานานถึง 100,000 ปี เพื่อให้สามารถเดินทางทะลุจากขอบหนึ่งไปยังขอบอีกด้านหนึ่งของกาแล็กซีได้ จากข้อมูลที่เรารู้ในตอนนี้ก็คือแสงนั้นคือสิ่งที่ไปเร็วที่สุดในจักรวาลแล้ว โดยเพียงแค่ 1 วินาที มันสามารถโคจรรอบโลกได้ถึง 7.5 รอบ นี่แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของทางช้างเผือกที่มีดาวฤกษ์อยู่เป็นจำนวนนับแสนล้านดวง และอาจมีดาวเคราะห์ที่คล้ายกับโลกและโคจรอยู่โดยรอบดาวฤกษ์ที่คล้ายกับดวงอาทิตย์ภายในเขตอาศัยได้ อยู่มากถึง 11,000 ล้านดวงเลยทีเดียว

อันที่จริงแล้วทางช้างเผือกของเรายังไม่ใช่พรมแดนสุดท้ายเลยด้วยซ้ำ เพราะอยู่เลยถัดออกไปจากทางช้างเผือก 2.5 ล้านปีแสง เราจะพบกับกาแล็กซีแอนดรอเมดาซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าทางช้างเผือกเราถึง 2 เท่า
แต่สิ่งที่เรารู้มากกว่านั้นก็คือ ทางช้างเผือกและแอนดรอเมดาก็เป็นเพียงแค่หนึ่งในจำนวนกาแล็กซีทั้ง 30 แห่ง ที่กระจายตัวกันอยู่ภายในกลุ่มท้องถิ่น (Local group)

เดินทางเลยออกไปไกลจากนั้นอีกขั้น เราจะพบว่ายังมีกลุ่มของกาแล็กซีในลักษณะเช่นนี้อีกเป็นจำนวน 100 แห่ง ซึ่งรวมกลุ่มกันเป็น กระจุกดาราจักรหญิงสาว (Virgo Supercluster) อย่างไรก็ตามหากเทียบระดับความยิ่งใหญ่นี้แล้ว นี่ก็คงเป็นแค่ระดับจังหวัดเท่านั้น หากมองใหญ่ขึ้นไปในระดับประเทศเราจะเรียกว่า กลุ่มกระจุกดาราจักรลาเนียเคอา (Laniakea Supercluster) ซึ่งเป็นกลุ่มของประชากรกาแล็กซีจำนวนกว่า 100,000 แห่งที่รวมกันอยู่ภายในนี้ แน่นอนว่าทางช้างเผือกของเราก็คือหนึ่งในนั้น อันที่จริงหากมองจากจุดนี้เราก็แทบมองไม่เห็นแล้วว่าทางช้างเผือกของเรานั้นอยู่ที่ตรงไหน เพราะหนึ่งจุดของแสงที่เห็นในภาพนี้ก็คือหนึ่งกาแล็กซี

ในจักรวาลที่เราสังเกตเห็นได้นั้นพบว่ามีประเทศอย่างเช่น Supercluster เช่นนี้อยู่อีกนับ 10 ล้านแห่ง ที่รวมกันเป็นสายใยของโครงสร้างจักรวาลขนาดใหญ่ และข้อมูลจาก NASA’s New Horizons ในช่วงต้นปี 2021 ก็ได้ประเมินเอาไว้ว่าอาจมีกาแล็กซีอยู่เป็นจำนวน 200,000 ล้านแห่งเลยทีเดียว ที่กระจายตัวอยู่ภายในจักรวาลของเรา

เรียบเรียงจาก Cosmos: A Spacetime Odyssey: Standing Up in the Milky Way

ความคิดเห็น