คอสมอส ตอนที่ 5: ดาวหาง สาสน์จากสวรรค์ ที่มนุษย์ต้องหวาดผวา

เราเกิดขึ้นมาอยู่ท่ามกลางความลี้ลับของจักรวาล และสิ่งนี้ก็ครอบงำเรามาแสนนานเหลือเกิน หากเทียบกับช่วงเวลาในปฏิทินจักรวาล มนุษย์เพิ่งลืมตาตื่นขึ้นมาเมื่อประมาณ 2 ชั่วโมงที่แล้วนี่เอง และทันใดนั้นความสงสัยในปริศนาของทุกสรรพสิ่งก็อุบัติขึ้น เริ่มแรกพวกเขาไม่ต่างอะไรกับเด็กแบเบาะที่ถูกทอดทิ้งเอาไว้อยู่หน้าบ้าน ไม่มีคำอธิบายใดๆ ทั้งสิ้น ว่าใครกันหรือทำไมเราจึงต้องมาอยู่ที่นี่ แล้วจักรวาลที่กว้างใหญ่นั่นคืออะไร และมีใครอยู่ข้างนอกนั่นอีกไหม


สิ่งวิเศษสุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ก็คือสติปัญญา ซึ่งมีส่วนช่วยอย่างมากที่ทำให้พวกเขาอยู่รอดมาได้ พวกเขาเติบโตขึ้นมาพร้อมกับความพยายามในการค้นหาคำตอบของธรรมชาติ และพรสวรรค์ “การรู้จำแบบ” (Pattern recognition) นี่คือวิวัฒนาการที่เฉียบแหลมที่สุดของมนุษย์ ซึ่งช่วยให้เราสามารถแยกแยะได้ว่าอะไรคือเหยื่อหรือผู้ล่า หรือบอกเราได้ว่าพืชชนิดไหนที่เป็นพิษ สิ่งนี้ช่วยให้มนุษย์อยู่รอดได้ดีขึ้น และมีโอกาสส่งต่อยีนพิเศษเช่นนี้ไปสู่รุ่นลูกถัดไปได้


ไม่ว่ามนุษย์จะอยู่ที่ส่วนไหนของโลก ไม่เคยเลยที่พวกเขาจะไม่มองขึ้นไปบนท้องฟ้า จุดของแสงดาวเหล่านี้ คือภาพที่บอกเล่าเรื่องราวที่แตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม


อีกทั้งเรายังได้ใช้พรสวรรค์ของ ‘การรู้จำแบบ’ นี้ อ่านท้องฟ้าให้กลายเป็นปฏิทิน ข้อความที่เขียนโดยดวงดาวได้บอกให้บรรพบุรุษเรารู้ว่าควรตั้งแคมป์เมื่อไหร่ ต้องออกเดินทางตอนไหน ฝูงสัตว์ป่าจะอพยพอย่างไร และเมื่อไหร่ฝนจะตก หรือช่วงไหนที่ฤดูหนาวใกล้เข้ามา (Winter Is Coming) พวกเขาได้ร้อยเรียงเรื่องราวระหว่างการเคลื่อนที่ของดวงดาว และวัฏจักรฤดูกาลของชีวิตบนโลกเอาไว้อย่างลงตัว และในตอนนี้ท้องฟ้าก็ได้กลายมาเป็นคำพยากรณ์ที่เที่ยงแท้ที่สุด ที่มนุษย์จะหวังพึ่งได้ มนุษย์เคารพสิ่งนี้ดุจทวยเทพ 


Artist's illustration of a comet. ISTOCK

อย่างไรก็ตามแม้ว่าท้องฟ้าจะเป็นปฏิทินที่มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตมนุษย์ในช่วงต้นมาก และข้อความที่แปะอยู่บนท้องฟ้าเหล่านี้ที่ไม่ต่างอะไรกับกระดาษโพสอิท แต่มันยังมีข้อความอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ ที่ต้องการจะบอกอะไรกับเราเพิ่มเติมอีกไหม และถ้ามีสิ่งแปลกใหม่ที่ว่านี่ คือประกาสิทธิ์สวรรค์ที่ต้องการอะไรจากเรา


ในตลอดประวัติศาสตร์ ดาวหาง ได้เคยปรากฏมาแล้วหลายครั้ง และมนุษย์ก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่ปรากฏอยู่บนปฏิทินท้องฟ้านี้คืออะไร พวกเขาอ่านข้อความนี้ไม่ออก มันคือสิ่งแปลกปลอมที่มาทำลายระบบระเบียบของพวกเขาอย่างแท้จริง ปัญหานี้เกิดขึ้นมานานก่อนที่เราจะมาถกเถียงกันว่าโลกหมุนรอบตัวเองด้วยแกนที่เอียงรอบดวงอาทิตย์หรือเปล่าด้วยซ้ำ ดังนั้นทุกวัฒนธรรมโบราณของมนุษย์จึนตีความหมายการมาเยือนของดาวหางนี้ไปในทางเดียวกัน นั่นคือมันต้องเป็นข้อความพิเศษที่ส่งมาโดยเทพเจ้า หรือพระเจ้า และบรรพบุรุษของเราก็สรุปว่านี่คือ “ลางร้าย”


มันไม่สำคัญว่าคุณจะเป็นชาวแอซเท็กโบราณ, ชาวแองโกล-แซกซัน, ชาวบาบิโลเนีย หรือชาวฮินดู หรือไม่ก็ตาม ดาวหางนี้ก็ยังคงเป็นคำพิพากษา เพียงแต่เหตุร้ายที่ว่านั่นจะมาในรูปแบบการเชื่อมโยงที่แตกต่างกันไปตามความเชื่อของแต่ละวัฒนธรรม เช่นเดียวกับที่มาของคำว่า “Dis-Aster” (ภัยพิบัติ) ซึ่งในภาษากรีกที่มีความหมายว่า "Bad Star" (ดาวชั่วร้าย) ขณะที่ตำนานของชนเผ่ามาไซ (Maasai people) แห่งแอฟริกาตะวันออกตลอดไปจนถึงเผ่าซูลู (Zulu people) ในทางตอนใต้ การมาของดาวหางนั้นหมายถึงสงคราม ส่วนชนเผ่าอีกัป (Eghap people) แห่งแคเมอรูน ตีความว่าคือการมาของโรคระบาด ไปสู่จากาแห่งซาอีร์ (Jaga of Zaire) พวกเขาเรียกสิ่งนี้ว่าคือ "ไข้ทรพิษ" (smallpox) ขณะที่เพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่าง ลูบา (Luba people) ก็เรียกดาวหางว่าเป็นลางบอกเหตุการตายของผู้นำ ส่วนชาวจีนโบราณก็มีระเบียบวิธีจดจำที่แตกต่างไปจากนี้ออกไปเล็กน้อย แต่ก็น่าสนใจมาก จุดเริ่มต้นนั้นเกิดขึ้นเมื่อ 1,400 ปีก่อนคริสต์ศักราช ที่พวกเขาได้ทำการบันทึกลักษณะของดาวหางเอาไว้ เช่น หากดาวปรากฏหางออกมา 3 แฉก นั่นคือสัญญาณเตือนการมาของพิบัติระดับบ้านเมือง และ 4 หางหมายถึงโรคร้ายระบาด 


มนุษย์มีพรสวรรค์ในการจดจำรูปแบบ และค้นหารูปแบบเหล่านั้นว่าตรงกับในสิ่งที่ตัวเองคิดอย่างไร สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน บางครั้งการตีความหมายของเราก็ไม่ใช่สิ่งที่ไปในทางเดียวกันเสมอ อย่างเช่นภาพที่เห็นบนดวงจันทร์ บางคนอาจเห็นเป็นกระต่าย บางคนอาจเห็นเป็นใบหน้าของผู้ชาย บางคนอาจมองเห็นเป็นปู หรือบางคนอาจมองเห็นเป็นสิงโต เป็นต้น (อ่านเพิ่มเติมในหัวข้อ Apophenia) มนุษย์นั้นมีความกระตือรือร้นในการค้นหาความหมาย เพื่อบ่งบอกว่าการมีอยู่ของตัวเองนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อความหมายของจักรวาล แม้ในที่สุดแล้วมันจะดูเกินตัวไปหน่อยก็ตาม


ทุกวันนี้เราทราบแล้วว่าดาวหางมาจากไหน หรือรู้แม้กระทั่งพวกมันก่อตัวขึ้นมาจากอะไร ห่างไกลออกไปจากดวงอาทิตย์ประมาณ 1 ปีแสง ที่ระยะนี้หากมองย้อนกลับมา เราจะเห็นโครงสร้างที่ประหลาดตาคล้ายกับเป็นเปลือกขนาดใหญ่ที่ห่อหุ้มดวงอาทิตย์เอาไว้ และสักครู่หนึ่งเราอาจเผลอคิดได้ว่า สถานที่แห่งนี้ดูคล้ายกับเป็นบ้านเกิดของอารยธรรมเอเลี่ยนในระดับที่ 2 ของคาร์ดาเชฟ สเกล (Kardashev scale)​ เลย ที่พวกเขามีความก้าวหน้ามากจนสามารถสร้างเทคโนโลยีมาดักจับพลังงานแสงจากดาวฤกษ์เอาไว้ได้เกือบทั้งหมด


แต่ความเป็นจริงคือไม่ใช่เช่นนั้น นี่ไม่ใช่บ้านเกิดของเอเลี่ยนสุดแสนฉลาดที่ว่าแต่ประการใด แต่มันคือดวงอาทิตย์ และสิ่งที่เห็นครอบดวงอาทิตย์อยู่นั้นก็คือ กลุ่มของก้อนน้ำแข็งจำนวนมหาศาล มันมีขนาดไล่ไปตั้งแต่ เทียบเท่าได้กับภูเขาลูกใหญ่ ตลอดไปจนถึงขนาดเท่าก้อนหิมะประมาณกำมือ หรือในอีกทางหนึ่งเราจะมองว่าสิ่งนี้คือของดูต่างหน้าจากปฐมฤกษ์แห่งการก่อตัวของระบบสุริยะในช่วงแรกก็ได้


ทุกวันนี้นักดาราศาสตร์เรียกสิ่งนี้ว่า “เมฆออร์ต” (Oort Cloud​)​ ชื่อนี้ถูกตั้งเพื่อเป็นเกียรติให้แก่ แจน ออร์ท (Jan Oort) นักดาราศาสตร์ชาวดัตช์ ผู้ที่ซึ่งเคยได้ทำนายการมีอยู่ของเมฆน้ำแข็งเหล่านี้ ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1950 นักวิทยาศาสตร์หลายท่านพยายามแก้ปัญหาที่เกิดจากปฏิทัศน์ที่พบว่า มีบทสุดท้ายของดาวหางอยู่หลากหลายครั้งเมื่อมันเดินทางเข้ามาสู่ภายในระบบสุริยะ เพราะบ่อยครั้งปลายทางของพวกมันก็คือการพุ่งชนใส่เข้าใส่ดาวเคราะห์ แต่ในอีกด้านหนึ่งพวกเขากลับไม่รู้ว่า ต้นกำเนิดของดาวหางพวกนี้อยู่ที่ไหน


ดาวหางส่วนมากถูกสร้างขึ้นมาจากน้ำแข็ง ทุกครั้งที่มันเดินทางเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ พวกมันจะสูญเสียมวลน้ำแข็งบางส่วนไปโดยการระเหิดออกสู่อวกาศ และหากวงจรเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไปอีกหลายพันเที่ยว มวลน้ำแข็งทั้งหมดของมันก็จะหายไป และสิ่งที่หลงเหลืออยู่ก็จะกลายเป็นเพียงแค่ดาวเคราะห์น้อยธรรมดา อีกทั้งดาวหางยังสามารถหลุดพ้นออกไปจากระบบสุริยะได้อีกด้วย หากอยู่ภายใต้อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงที่พอเหมาะ แต่สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์อยากรู้ก็คือดาวหางลำดับถัดไปจะปรากฏขึ้นอีกเมื่อไหร่ และที่แห่งหนใด 


แจน ออร์ท หนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ผู้พยายามค้นหาคำตอบข้างต้น เขาได้พยายามคํานวณหาอัตราการปรากฏตัวขึ้นใหม่ของดาวหางทุกครั้ง แล้วก็ได้ข้อสรุปว่า มันจะต้องเป็นพื้นที่ๆกว้างใหญ่ไพศาล และเป็นทรงกลมซึ่งเป็นที่อยู่ของดาวหางเหล่านี้ แต่ที่พวกเราไม่เคยเห็นมันเลยก็เพราะว่ามันอยู่ห่างไกลมาก และไกลหลายปีแสง แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังคงอยู่รอบๆ ดวงอาทิตย์


แม้เราจะพยายามศึกษาดาวหางและระบบสุริยะมาหลายทศวรรษแล้วก็ตาม ทุกวันนี้แนวคิดของออร์ทก็ยังคงเป็นที่ยึดถือกันอยู่ แม้เมฆออร์ตยังคงเป็นมโนทัศน์อยู่ก็ตาม เพราะยังไม่เคยมีใครเห็นตัวตนของมันจริงๆ มาก่อน อันที่จริงแล้วดินแดนแห่งนี้มันยากเกินกว่าที่เราจะมองเห็นมันได้จริงๆ และมืดมาก ซึ่งมันไกลเสียจนเพื่อนบ้านอย่างดาวเสาร์ยังดูอยู่ใกล้กว่าเสียอีก


วิทยาศาสตร์นั้นได้มอบพลังวิเศษให้กับเรา มันคือของขวัญแห่งการพยากรณ์ และ แจน ออร์ทคือคนแรกที่ประเมินได้อย่างถูกต้อง ถึงดินแดนอันห่างไกลระหว่างดวงอาทิตย์ และ ใจกลางของทางช้างเผือก และนั่นก็ยิ่งใหญ่มาก เพราะในท้ายที่สุดเราก็ได้รู้เสียทีว่าเราอยู่ที่ไหนในหมู่ดาว จากการวิเคราะห์เบื้องต้นของเขาก็คือระบบสุริยะนั้นอยู่ห่างจากศูนย์กลางทางช้างเผือกราวๆ 30,000 ปีแสง โดยดาวฤกษ์ต่างๆ จะโคจรอยู่โดยรอบศูนย์กลางนั่น เช่นเดียวกับดวงอาทิตย์ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 225 ล้านปี เพื่อเดินทางให้ครบรอบ อีกทั้งเขายังเป็นคนแรกที่สามารถร่างแผนที่โครงสร้างกังหันของกาแล็กซีได้สำเร็จโดยการใช้กล้องโทรทรรศน์วิทยุ สิ่งนี้ช่วยเขาค้นพบใจกลางของทางช้างเผือกได้อย่างมีความแม่นยำ ซึ่งเป็นสถานที่ๆ อัดแน่นเต็มไปด้วยดวงดาว เพียบพร้อมไปด้วยวัตถุดิบแห่งการสร้างสรรค์ และนี่คือตัวบ่งชี้แรกๆ ที่บอกว่าสถานที่แห่งนั้นอาจจะมีหลุมดำมวลยวดยิ่งซ่อนตัวอยู่ แต่ที่เรารู้ในตอนนี้ก็คือเมฆออร์ตนั้นมีขนาดใหญ่มาก หนึ่งในดาวหางเหล่านี้อาจต้องใช้เวลาประมาณ 1 ล้านปี เพื่อให้โคจรครบรอบดวงอาทิตย์ ในขณะที่บางดวงอาจถูกรบกวนด้วยแรงโน้มถ่วงระหว่างดาวฤกษ์ จนส่งผลทำให้มันพุ่งเข้ามาสู่ใจกลางของระบบสุริยะ ในด่านแรกมันจะพบเจอกับดาวเนปจูน ในด่านถัดไปก็คือดาวพฤหัสบดีที่มีมวลมหาศาล อิทธิพลของแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์เหล่านี้ จะส่งผลทำให้วงโคจรของมันแคบลง และเมื่อก้อนน้ำแข็งนี้ตกอิสระลงมาสู่ระบบสุริยะภายใน ก็จะถูกดวงอาทิตย์แผดเผาให้ละลาย หลังจากนั้นความงดงามก็จะปรากฏ จากภูเขาน้ำแข็งที่แห้งแล้ง บัดนี้ได้กลายมาเป็นชั้นของทรงกลดเรืองแสงที่มีหางทอดยาวไปไกลสู่อวกาศตรงข้าม สิ่งเหล่านี้บอกได้ว่ามันถูกสร้างขึ้นมาจากอะไรเมื่อกว่า 4,000 ล้านปีที่แล้ว


เกร็ดความรู้เกี่ยวกับดาวหาง

  1. ดาวหาง คือ วัตถุชนิดหนึ่งที่โคจรอยู่รอบระบบสุริยะ โดยจะมีส่วนที่ระเหิดเป็นแก๊สเมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ซึ่งจะทำให้เกิดชั้นฝุ่นและแก๊สที่ฝ้ามัวอยู่ล้อมรอบ และทอดเหยียดออกไปสู่อวกาศจนดูคล้ายกับหาง
  2. นิวเคลียสหรือใจกลางของดาวหางคือ "ก้อนหิมะสกปรก" ซึ่งประกอบด้วยน้ำแข็ง คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน แอมโมเนีย รวมถึงมีฝุ่นและก้อนหินแข็งปะปนอยู่ด้วยกัน โดยจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางไล่ไปตั้งแต่ขนาดไม่กี่กิโลเมตรไปจนถึงหลายสิบกิโลเมตร
  3. คาบการโคจรของดาวหางมีความยาวนานแตกต่างกันได้หลายแบบ ตั้งแต่คาบโคจรเพียงไม่กี่ปี ก็คือคาบโคจรประมาณ 50-100 ปี ไปจนถึงคาบโคจรระดับหลายร้อยหรือหลายพันปี
  4. เชื่อกันว่าดาวหางบางดวงเคยผ่านเข้ามาในใจกลางระบบสุริยะเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ก่อนที่จะถูกเหวี่ยงตัวออกไปสู่อวกาศระหว่างดาว ส่วนดาวหางที่มีคาบการโคจรที่สั้นนั้นเชื่อว่าแต่เดิมคือส่วนหนึ่งของวัตถุในแถบไคเปอร์ที่อยู่เลยไปจากวงโคจรของดาวเนปจูนไปอีก ส่วนดาวหางที่มีคาบการโคจรที่ยาวมากๆ อาจมาจากแหล่งอื่นๆ ที่ไกลจากดวงอาทิตย์ของเรามาก อย่างเช่นในกลุ่มเมฆออร์ตซึ่งประกอบด้วยเศษซากที่หลงเหลืออยู่จากการบีบอัดตัวของเนบิวลาในยุคเริ่มต้นของระบบสุริยะ
  5. ดาวหางเหล่านี้เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงจากดาวเคราะห์รอบนอกรบกวนในกรณีของวัตถุในแถบไคเปอร์ หรือจากจากดวงดาวอื่นๆ ใกล้เคียงในกรณีของวัตถุในกลุ่มเมฆออร์ต หรือจากการชนกัน ก็จะส่งผลทำให้มันเคลื่อนที่เข้ามามาสู่ดวงอาทิตย์
  6. ดาวหางที่มีอายุเก่าแก่มากจนกระทั่งในส่วนที่สามารถระเหิดเป็นแก๊สได้สูญสลายไปจนหมด วัตถุเหล่านี้ก็จะแปรสภาพไปเป็นดาวเคราะห์น้อย และเชื่อกันว่าดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกหลายดวง ก็เคยเป็นดาวหางมาก่อน
  7. ดาวหางที่สว่างมากจนสามารถสังเกตเห็นด้วยตาเปล่า เราจะเรียกว่าดาวหางใหญ่ (great comet) นอกจากนี้ยังมีดาวหางประเภทเฉียดดวงอาทิตย์อีกหลายดวง ซึ่งมักจะแตกสลายไปจนหมดเมื่อเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์มากๆ อันเป็นผลจากแรงโน้มถ่วงมหาศาล และเศษที่หลงเหลือเหล่านี้ก็จะกลายมาเป็นฝนดาวตกที่สวยงามปรากฏบนโลก
  8. นับถึงเดือนเมษายน ค.ศ. 2021 ก็มีรายงานการค้นพบดาวหางแล้ว 4,595 ดวง และมีแนวโน้มที่จำนวนจะเพิ่มขึนเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามในส่วนที่ค้นพบแล้วก็ยังเป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของจำนวนดาวหางทั้งหมดเท่านั้น ขณะที่วัตถุอวกาศที่มีลักษณะคล้ายกับดาวหางในระบบสุริยะรอบนอก ก็อาจมีจำนวนอยู่มากถึงหนึ่งล้านล้านชิ้นเลยทีเดียว
  9. โรเซตต้า (Rosetta) ขององค์การอวกาศยุโรป คือยานอวกาศลำแรกที่สามารถส่งหุ่นยนต์ไปลงจอดบนพื้นผิวของดาวหางได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2014 บนดาวหางที่มีชื่อว่า 67พี/ชูรูย์มอฟ–เกราซีเมนโค (67P/Churyumov–Gerasimenko) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 4 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 283 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 15 นาทีแสง


[แหล่งอ้างอิง] 1-Cosmos: A Spacetime Odyssey: When Knowledge Conquered Fear 2-คนไทยเรามองพระจันทร์เป็นรูปกระต่ายแต่คนต่างชาติมองเป็นรูปอะไรล่ะ!? - https://www.dek-d.com/board/knowledge/3601164/ 3-Comet - https://en.wikipedia.org/wiki/Comet 4-Rosetta (spacecraft) - https://en.wikipedia.org/wiki/Rosetta_(spacecraft) 5-How Far is Comet 67P/Churyumov-Gerasimenko from Earth? - https://theskylive.com/how-far-is-67p

ความคิดเห็น